18.ตาข่ายแห่งความมั่นคงของสังคม
แนวคิดที่เกี่ยวกับเงินออมระยะยาวเน้นว่า เงินออมระยะยาวของคนที่ทำงานใน
วันนี้ ก็คือส่วนหนึ่งของแผนหลักของประเทศที่จะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคมของ
ประเทศนั้นๆ
โครงการสวัสดิการสังคม หรือความคุ้มครองให้กับประชาชนแต่ละคนนั้น เป็น
เรื่องสำคัญสำหรับความมั่นคงทางสังคมที่จำ เป็นต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างความเจริญ
ทางเศรษฐกิจ เป็นการสร้างความกินดีอยู่ดี ให้กับประชาชนให้ครบถ้วนสำ หรับคนที่
ทำงานได้ และทำงานไม่ได้ หรือไม่ได้ทำงานแล้ว
เรื่องสวัสดิการสังคมนี้อาจจะพูดได้กว้างขวางมาก ในที่นี้จะดูเฉพาะสวัสดิการที่
จะเสริมสร้างให้ผู้ที่มีงานทำได้มีกินมีใช้ แม้ในวัยที่ไม่ได้ทำงานแล้ว หรือในยามที่ไม่อาจ
ทำงานได้
โครงการในด้านนี้สามารถแยกได้เป็นสามระดับตามการจำแนกของธนาคารโลก
โดยระบบการออมและสวัสดิการทั้ง 3 นี้อาจจะเปรียบได้ว่าเป็นตาข่าย 3 ชั้นที่ขึงไว้เพื่อ
ความปลอดภัย และความมั่นคงของสังคม
ตาข่ายขั้นแรก : ระบบการออมโดยสมัครใจ (privately managed, voluntary savings)
ระบบนี้คือการออมโดยสมัครใจของบุคคลแต่ละคน รัฐจะให้การสนับสนุนบ้าง
ด้วยประโยชน์ทางภาษีอากรในประเทศไทย โครงการที่ชัดเจนที่สุดคือ กองทุนรวมเพื่อ
การเลี้ยงชีพ หรือ RMF (Retirement Mutual Fund) และ การประกันชีวิตแบบสะสม
ทรัพย์
ตาข่ายชั้นกลาง: ระบบบำนาญแบบบังคับ (publicly mandated, defined contribution system)
คือระบบบำนาญแบบที่รัฐบังคับให้ประชาชนออมเพื่อไว้ใช้ยามชรา ประชาชน
แต่ละคนจะได้ผลประโยชน์เท่ากับที่ออมได้ เป็น fully funded system คือประชาชน
สะสมเงินทุกเดือนเข้ามาไว้ในบัญชีของตนเองรวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายเข้ามาสมทบ
เป็นเงินของแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน (individual account) แล้วนำเงินในบัญชีดัง
กล่าวไปหาดอกผล แล้วจ่ายคืนเมื่อประชาชนผู้นั้นเกษียณอายุ
บางประเทศอาจให้นายจ้างจ่ายแต่ฝ่ายเดียวก็ได้ เป็นกองทุนจากนายจ้าง
สำหรับลูกจ้างแต่ละคน
ที่เรียกว่าเป็นบำนาญนั้น ก็เพราะในหลายประเทศจะใช้วิธีการของคณิตศาสตร์
ประกันชีวิตมาคำนวณหาจำนวนเงินที่คอยจ่ายคืนเป็นงวดๆหลังเกษียณ แต่อีกหลาย
ประเทศจะจ่ายแบบบำเหน็จ คือจ่ายเป็นเงินก้อนให้ผู้รับเงินไปบริหารเงินหลังเกษียณ
เอาเอง
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ นับแต่ตั้งกองทุนมา ถือเป็นระบบเงินออม
รายบุคคล ที่บังคับใช้กับข้าราชการเข้าใหม่ทุกคน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่
ก้ำกึ่งระหว่างตาข่าย 2 ชั้นที่กล่าวมานี้ เพราะไม่ได้บังคับ แต่รัฐสนับสนุน และนายจ้าง
ร่วมจ่าย
ตาข่ายชั้นสุดท้าย : ระบบกำหนดบำนาญไว้ล่วงหน้า (publicly mandated, publicly managed, defined benefits system)
คือระบบบังคับออม ที่รัฐรับหน้าที่บริหารจัดการและกำหนดผลประโยชน์ที่
ประชาชนทุกคนพึงได้รับไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ชัดเจนล่วงหน้า (defined benefits) ระบบ
นี้เป็นระบบแรกๆ ของการประกันสังคมในนานาประเทศและกำลังเป็นปัญหามากใน
ประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา เพราะเป็นระบบ pay-as-you-go คือรัฐหาเงินมา
จ่ายเมื่อต้องจ่ายไม่มีการออมเงินไว้ให้พอเพียงตั้งแต่วันที่สัญญาจะให้บำนาญตามที่
กำหนด เมื่อผู้รับประโยชน์อายุยืนขึ้น ทำให้ต้องจ่ายเงินให้ยาวนานขึ้น และอัตราการเกิด
ลดลง ทำให้ผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนมีน้อยลง รายจ่ายดังกล่าวจึงเป็นภาระต่องบประมาณ
อย่างมาก
ระบบ defined benefits, pay-as-you-go ของเราคือ บำนาญของข้าราชการ
สำหรับการประกันสังคมที่มีการแยกกองเงินไว้ต่างหาก เช่น กองทุนประกัน
สังคมกรณีชราภาพ ซึ่งเป็นระบบ defined benefits เช่นเดียวกับบำนาญข้าราชการ ถึง
แม้จะมีการจ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างสม่ำเสมอโดยนายจ้างและลูกจ้าง แต่ก็ต้องคอยดูว่า
อัตราที่จ่ายเข้า บวกกับผลประโยชน์ที่หาได้ พอเพียงจะจ่ายให้กับสมาชิกตามที่สัญญาไว้
โดยกองทุนไม่หมดไปเสียก่อน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
วิธีการได้เงินมาจ่าย
พอจะเห็นได้ว่า ระบบการประกันสังคมหรือการออมเพื่อไว้ใช้ในยามชรานั้น
หากแยกตามวิธีการได้เงินมาจ่ายมีสองแบบ คือแบบที่กำหนดจำนวนเงินที่ผู้เป็นสมาชิก
จะได้รับ หลังจากออกจากงานตั้งแต่ต้น โดยไม่ได้ระบุว่าเงินจะมาจากที่ได้ (defined
benefits) กับแบบที่กำหนดจำนวนเงินที่สมาชิกและ/หรือนายจ้างต้องจ่าย โดยสมาชิก
จะได้รับเงินคืนตามที่จ่ายมารวมกับที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ (defined contribution)
ระบบ defined benefits ในเมืองไทย สำหรับในภาคราชการคือเงินบำเหน็จ
บำนาญที่ข้าราชการจะได้รับเมื่อออกจากงาน ซึ่งมีวิธีคิดกำหนดไว้แน่ชัดทราบกันตั้งแต่
วันที่เข้ารับราชการ ส่วนในภาคเอกชน ได้แก่ กองทุนเพื่อการชราภาพของกองทุนประกัน
สังคม
ในต่างประเทศบางประเทศ การให้บำนาญไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะข้าราชการหรือ
การประกันสังคมที่เป็นตาข่ายสุดท้ายเท่านั้น พนักงานในบริษัทเอกชนก็มีโอกาสได้รับ
บำนาญ เช่นกันตามโครงการของบริษัทต่างๆ ซึ่งมองดูแล้วก็เห็นว่าเป็นการให้สวัสดิการ
ที่ดี ทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยชรารู้สึกมีความมั่นคงในบั้นปลายของชีวิตมากกว่าในเมืองไทย
สำหรับระบบ defined contribution นั้น ในประเทศไทย ได้แก่ โครงการ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของฝ่าย
ข้าราชการ
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ในต่างประเทศโครงการที่จะให้คนที่ทำงานมีรายได้เก็บออมเพื่อ
ไว้ใช้ในยามชรา มีหลากหลายและกว้างขวางกว่าในเมืองไทย เพราะครอบคลุมถึงคน
ทำงานมากสาขาอาชีพกว่า ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระด้วย
ทำไมเป็นเช่นนั้น และ ควรมีโครงการเช่นเดียวกันในเมืองไทยหรือไม่
สำหรับทุกสังคม เราจำเป็นต้องมีการให้สวัสดิการกับคนที่ไม่สามารถนำตนเข้าไป
อยู่ในกระแสหลักของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม นั่นเป็นการให้บริการ
ขั้นต่ำสุดที่รัฐจำ เป็นต้องจัดหาให้กับราษฎรทุกคน ทุกวัย นั่นคือตาข่ายชั้นที่ 1
แต่หากว่าในประเทศของเราจะมีโครงการออมเงินในรูปแบบต่างๆ ขึ้นมาบังคับ
หรือสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีเงินจากการทำงานได้เก็บออมส่วน
หนึ่งไว้ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระในการให้สวัสดิการของรัฐได้ หากกลุ่มผู้ทำงานนี้มีอันต้อง
ตกงานหรือว่าไม่ได้ทำงานต่อไปไม่ว่าจะด้วยไร้ความสามารถ หรือสูงอายุก็ตาม ก็ยังมีเงิน
ของตนไว้ใช้เลี้ยงตนเองได้ นี่เป็นตาข่ายชั้นที่ 2 และ 3
การออมเพื่อวัยชรา ก็คือการเกลี่ยเงินได้จากวันที่มีเงินเดือน มีรายได้ไปสู่เวลา
ที่ไม่มีรายได้แล้วแต่ยังมีรายจ่ายอยู่ ซึ่งเป็นบั้นปลายของชีวิตของคนทุกคน
ในสังคมเกษตร ชุมชนและครอบครัวขนาดใหญ่ จะดูแลเครือญาติผู้อยู่ในวัยชรา
หรือมองอีกนัยหนึ่งก็คือ คนในชั่วอายุต่อมาคือรุ่นลูก หรือรุ่นหลานเป็นผู้เลี้ยงดูคนชั่ว
อายุก่อนหน้านั้น แต่เมื่อสังคมเกษตรเริ่มสลายลง เปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม
ครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว และคนส่วนมากทำงานได้เงินเดือนที่มีวันจะตกงานหรือ
ปลดเกษียณเพราะสูงอายุ การที่ลูกหลานจะเลี้ยงดูปู่ย่าตายายหรือเครือญาติเริ่มเป็น
เรื่องที่ยากขึ้น
ในสังคมอุตสาหกรรมที่พัฒนามานานแล้ว ได้เปลี่ยนวิธีการจากระบบที่
ครอบครัวหรือเครือญาติดูแลกันในชุมชน มาเป็นเรื่องที่รัฐเป็นผู้ให้การดูแล ด้วย
ระบบสวัสดิการที่ใช้วิธีจ่ายจากงบประมาณ หรือจ่ายจากเงินกองทุนที่กำหนดจำนวน
เงินหรือประโยชน์ที่พึงได้ไว้ล่วงหน้าหากเงินไม่พอก็ต้องเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ที่อยู่ในวัย
ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการเพิ่มเงินจ่ายเข้ากองทุน หรือการเพิ่มภาษีเพื่อให้มีเงิน
งบประมาณพอจ่ายก็ตาม ด้วยวิธีการนี้ระบบคิดยังคงเดิม คือ คนรุ่นลูกหรือหลานเป็น
ผู้เลี้ยงดูคนชั่วอายุก่อนหน้านั้น เพียงแต่ว่าทำผ่านระบบกองทุน หรือระบบภาษี นี่คือ
ระบบประกันสังคมที่เป็น defined benefits ที่กล่าวถึงไว้ข้างต้น
มาถึงวันนี้ที่คนอายุยืนขึ้น ระบบประกันสังคมหรือการให้สวัสดิการแบบที่ว่าให้
คนวัยทำงานจ่ายเพื่อเลี้ยงคนรุ่นก่อนหน้านั้นทำท่าว่าจะไปไม่รอด เพราะคนแก่มีมากขึ้น
เป็นลำดับ ประเทศที่เพิ่งหันมามองและจัดโครงการให้สวัสดิการในด้านนี้หันมาเน้นการ
ออมระยะยาวเป็นหลัก นั่นก็คือ การช่วยตนเองของคนในวัยทำงานทุกคนที่จะเกลี่ยเงิน
ทำมาหาได้ส่วนหนึ่งไว้สำหรับใช้หลังจากเกษียณแล้ว โดยนายจ้างจ่ายเงินให้อีกส่วนหนึ่ง
และรัฐบาลมีส่วนสนับสนุนด้วยการลดหย่อนภาษีหรือกำหนดวิธีการเสียภาษีที่สนับสนุน
ให้มีการออมทำนองนี้
ทำยิ่งมากยิ่งดี เพราะทำให้คนพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นภาระของรัฐในระยะยาว และ
ควรทำให้กว้างขวางขึ้นอีกหลายด้านคือ
1. ครอบคลุมคนที่อยู่ในวัยทำงานและมีรายได้ทั้งหมด
2. ไม่ควรให้มีการนำเงินออกไปใช้ แม้เมื่อออกจากงานหนึ่งไปทำงานอีกที่หนึ่ง
ควรให้เป็นเงินพึงรับเมื่อครบอายุที่กำหนดเท่านั้น
3. การสนับสนุนไม่จำเป็นต้องยกเว้นภาษี แต่อาจจะใช้วิธีให้เสียภาษีตอนนำเงินออกไปใช้ก็ได้
4. มีโครงการเงินออมแบบสม่ำเสมอระยะยาวที่มีนโยบายการลงทุนต่างๆ กัน
ให้เลือกให้มากแบบขึ้น ซึ่งสินค้าที่หลากหลายน่าจะช่วยเพิ่มแรงดึงดูดในการ
ออมได้มากขึ้น
5. เมื่อผู้ออมก้าวเข้าสู่วันเกษียณอายุจากการทำงาน ควรมีทางเลือกให้ไม่ต้อง
นำเงินออกไปทั้งก้อน เช่น มีระบบให้ฝากเงินไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญบริหารและจ่าย
คืนเป็นงวดคล้ายบำนาญ
โครงการลงทุนต่อเนื่องเพื่อใช้หลังเกษียณ
ถ้ามาตรฐานชีวิตของคนในวัยหลังเกษียณขึ้นกับจำนวนเงินที่จะมีใช้เลี้ยงขีพไป
ตลอดชีวิต ปัจจัย 2 ประการที่จะมาเกี่ยวข้องกับมาตรฐานชีวิตหลังเกษียณ คือ
1. จำนวนเงินที่จะมีใช้หลังเกษียณ
2. วิธีการบริหารจัดการเงินที่มีอยู่หลังจากเกษียณ
มีคนคิดไว้ว่า รายได้ต่อเดือนที่ควรจะมีใช้หลังเกษียณ ไม่ควรจะน้อยกว่า 70%
ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย หากต้องการให้มีเงินเดือนใช้เท่านั้นในตอนเกษียณ ก็หมาย
ถึงว่าในวัยทำงานต้องเก็บออมอย่างมีวินัย และให้ได้เป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละช่วงเวลา
ยิ่งเก็บออมได้มากก็จะมีเงินใช้จ่ายได้มากขึ้น มาตรฐานชีวิตก็ดีขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเงินเก็บเป็นจำนวนมากพอตามเป้าหมาย ก็ต้องระวังว่าหลัง
จากเกษียณอายุแล้ว ต้องจัดสรร และบริหารจัดการให้เป็น เพื่อมีเงินพอใช้ไปตลอดรอด
ฝั่ง
มีอยู่สองสามวิธีที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตบั้นปลาย ให้อยู่ได้อย่างสบายไม่ต้อง
กระเบียดกระเสียร หรือกังวลเรื่องการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ
สะสมเพิ่ม
นอกจากจำนวนเงินที่บังคับสะสมเป็นรายเดือนแล้ว ผู้มีรายได้บางคนต้องการ
สะสมเพิ่ม เพื่อเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของตนเองในวัยเกษียณ กองทุนเพื่อเกษียณ
อายุในประเทศต่างๆ เหล่านี้มักเปิดโอกาสให้สมาชิกของตนสะสมเงินเพิ่มได้ และเอาเงิน
นั้นไปลงทุนหาดอกผลให้งอกเงยเป็นทุนชีวิตให้ผู้สะสมต่อไป
ของเราตอนนี้ผู้เป็นสมาชิกกองทุน กบข.สะสมเพิ่มได้ บุคคลทั่วไปสะสมเพิ่มได้
ด้วยกองทุน RMF หรือ ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือ ออมเพิ่มด้วย
ตนเองแล้วนำเงินไปบริหารจัดการเอง -- หัดไว้ก็ดีเหมือนกัน และไม่แน่นะคะ ถ้าจัด
สำรับให้ดีๆ อาจจะได้ผลตอบแทนมากกว่ากองทุนก็ได้
สะสมต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญของการสะสมเงินพื่อการเกษียณอายุคือความต่อเนื่อง ในประเทศไทย
เมื่อลูกจ้างลาออกจากบริษัทถือว่าพันสภาพจากการเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยง
ชีพโดยอัตโนมัติ เงินที่อยู่ในกองทุนก็ต้องเอาออกมาด้วย ในทำนองเดียวกันข้าราชการ
ไทยเมื่อพ้นสภาพจากการเป็นข้าราชการ ก็ถือว่าพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกกองทุน
บำเหน็จบำนาญข้าราชการ จำต้องขอรับเงินคืน
ในทางทฤษฎีเมื่อออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิม ก็ควรจะนำ
เงินก้อนนั้นไปสะสมให้ต่อเนื่องในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่ (ในปัจจุบัน
หากที่ทำงานทั้งเก่าและใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเอง ลูกจ้างที่ออกจากที่
ทำงานเดิมและเข้าไปทำงานที่ใหม่โดยต่อเนื่อง สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยง
ชีพที่เดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ใหม่โดยอัตโนมัติ) หรือหากจำต้องรับเงินก้อน
จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานก็ควรจะนำเงินออมก้อนนั้นไปออมต่อ อาจ
จะออมเองหรือออมกับกองทุนเปิดต่างๆ ก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีคนขอรับเงินก้อน
และเมื่อได้รับเงินก้อนก็ใช้หมด แต่ถึงแม้จะไม่ได้ใช้หมด บางรายก็เสียประโยชน์ไม่อาจ
นับผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องได้ เมื่อไปเข้ากองทุนที่ใหม่ก็ต้องเริ่มสะสมใหม่
หลายประเทศให้ความสำคัญกับการออมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้ออมจะย้ายงาน
ไปที่ใด จะมีกองทุนรองรับการโอนย้ายเงินจากกองทุนหนึ่งไปอีกกองทุนหนึ่งและไม่
อนุญาตให้นำเงินออกมาใช้จนกว่าจะเกษียณอายุ เพื่อให้เงินออมที่สะสมมาตลอดนั้นไม่
ขาดระยะในการลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ และป้องกันไม่ให้นำเงินนั้นไปใช้ก่อนวัย
เกษียณ ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของโครงการ
สำหรับประเทศไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อบังคับให้เกิดการออมอย่างต่อเนื่อง
สิทธิในการรับเงินจากกองทุนเกิดขึ้นเมื่อออกจากงานไม่ใช่ตอนเกษียณ และก็ยังสามารถ
รับเงินเป็นก้อนได้ แต่ในอนาคตน่าจะมีแนวโน้มที่ดีในการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้
ออมเงินอย่างต่อเนื่องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเลือกรับเงินเป็นงวดๆได้
รับเงินเป็นงวด
คนส่วนใหญ่พอมีเงินอยู่ในมือก็อดไม่ได้ที่จะใช้ ยิ่งบางคนเกษียณอายุแล้วเลือก
รับบำเหน็จได้เงินก้อนใหญ่อยู่ในมือที่เคยวาดฝันไว้ว่าอยากได้นั่นได้นี่ คราวนี้มีเงินซื้อก็
อดไม่ได้ที่จะซื้อ เงินก้อนที่ตั้งใจจะเอาไว้ใช้ไปตลอดชีวิตอาจหมดไปเร็วเกินคาด
ระบบบำนาญ ซึ่งเป็นตาข่ายชั้นแรก เป็นตัวหนึ่งที่ข่วยจัดสรรเพื่อให้มีเงินใช้
ในระยะยาว คือ แทนที่จะให้เงินตูมเดียวทั้งก้อน เปลี่ยนมาเป็นแบ่งจ่ายเงินให้เป็น
งวดๆไปจนตลอดชีวิต เพื่อการันตีว่าอย่างน้อยคนคนนั้นจะมีเงินจำนวนหนึ่งไปใช้ทุก
เดือน ไม่ถึงกับสิ้นไร้ไม้ตอก
ไม่เฉพาะแต่เงินบำ นาญที่จ่ายจากงบประมาณของรัฐเท่านั้น กองทุนเพื่อการ
เกษียณอายุในหลายๆ ประเทศ อย่างประเทศชิลี ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์
หรืออังกฤษ ที่บังคับให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องสะสมเงินเข้ากองทุน บางประเทศเปิด
โอกาสให้สมาชิกเลือกรับเงินที่ตนเองสะสมไว้เป็นงวดๆได้ รัฐพยายามชักจูงให้ผู้สะสม
รับเงินเป็นงวด เพื่อให้มีรายได้เป็นรายเดือนเหมือนตอนที่ยังทำ งานอยู่ โดยให้สิทธิ
ประโยชน์ทางภาษีเป็นแรงจูงใจ หรือส่งเสริมให้นำเงินก้อนไปไว้กับบริษัทประกันชีวิต ที่
จะจ่ายเงินให้กับผู้ถือกรมธรรม์เป็นงวดๆ
ของเราเอง กองทุน กบข. นำร่องไปแล้วโดยให้สมาชิกขอรับเงินเป็นงวดๆ ได้
แต่คนอื่นๆ ยังทำไม่ได้ แม้แต่การนำเงินไปฝากให้บริษัทประกันชีวิตดูแล เพราะบริษัท
ประกันชีวิตในบ้านเรายังไม่ยอมรับเบี้ยประกันครั้งเดียวทั้งก้อน แล้วเริ่มจ่ายคืนให้ผู้ถือ
กรมธรรม์ไปตลอดชีพแบบบางประเทศอื่นๆ ผู้ต้องการเงินคืนเป็นงวดๆ ต้องค่อยๆ ออม
เป็นเวลานาน กับโครงการของบริษัทประกันชีวิตเท่านั้น
อีกแหล่งหนึ่งที่น่าจะเป็นผู้จ่ายเงินเป็นงวดได้ แต่ก็ไม่ทำเหมือนกันคือ รัฐบาล
ถ้ารัฐบาลออกพันธบัตรระยะยาวเพื่อกู้เงินแบบจ่ายคืนดอกเบี้ยและทะยอยจ่ายคืนเงิน
ต้นทุกงวดไปพร้อมๆกัน (นักการเงินเรียกว่า amortized bonds) โดยกำหนดให้ผู้ถือ
พันธบัตรได้รับเงินทุกเดือน เดือนละเท่าๆกัน แบบนี้เท่ากับได้ออกแบบพันธบัตรเพื่อผู้
เกษียณอายุได้มีเงินรับคล้ายบำนาญ
รัฐที่มีนโยบายอยากให้ผู้ที่ออมเงินมาตลอดชีวิตการทำงาน ได้มีที่พักเงินก้อน
และค่อยๆ ทะยอยใช้ จะมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนด้วยประการต่างๆ ให้ประชาชน
ผู้ออมยืดอายุเงินออมไว้ใช้นานๆ ด้วยกันทั้งนั้น การสนับสนุนและส่งเสริมการออมเพื่อ
เกษียณ ไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อเกษียณ อันที่จริงการบริหารจัดการเงินที่ได้มาตอนเกษียณเริ่ม
ต้นขึ้นหลังจากที่เกษียณแล้ว การบริหารจัดการเงินก้อนนี้มีความสำคัญมาก เพื่อให้ผู้ที่
เกษียณแล้วมีความมั่นคงทางการเงินไปจนตลอดชีวิตสมวัตถุประสงค์ที่รัฐได้เริ่มนโยบาย
ออมเงินเพื่อเกษียณเอาไว้แล้ว